คำถามที่พบบ่อย
→ สีแบ่งออกเป็นกี่ประเภท
หลักการโดยทั่วไปที่ใช้จำแนกสี มีดังต่อไปนี้
1. แบ่งตามวัตถุดิบในสี (Raw Material Used) เช่น สีน้ำ สีน้ำมัน สีพียู สีอีพ๊อกซี่
2. แบ่งตามลักษณะของสีที่วางตามตลาด (Condition of Paint) เช่น สีฝุ่น สี Ready Mixed
3. แบ่งตามลักษณะการใช้งาน (Application Method) เช่น สีทา สีสเปร์ย
4. แบ่งตามคุณสมบัติของสี (Function of Paint) เช่น สีรองพื้น สีทนไฟ สีทนความร้อน
5. แบ่งตามลักษณะฟิล์มสี (Film Appearance) เช่น สีโปร่งใส สีด้าน สีเรืองแสง
6. แบ่งตามชนิดของชิ้นงานที่จะเคลือบ (Substrate) เช่น สีรถยนต์ สีทาเรือ สีมอร์เตอร์ไซค์
→ สารพันปัญหาอาจเกิดขึ้นภายหลังการทาสีภายนอก
* ฟิล์มสีแตกเป็นลายแบบหนังจระเข้ (Alligatoring )
* การพองของฟิล์สี ( Blistering )
* สีเป็นฝุ่นผง (Chalking)
* คราบของสีที่เป็นฝุ่นผง ( Chalk Run-Down )
* ฟิล์มสีแตกหลุดล่อน ( Cracking / Flaking )
* การเกาะของฝุ่นคราบสกปรกบนฟิล์มสี ( Dirt Pickup )
*การเกิดคราบเกลือ และรอยด่าง ( Efflorescence / Motting )
* สีซีดจาง ( Fading / Poor Color Retention )
* การเกิดคราบสีขาว (Frosting )
* รอยทับซ้อน ( Lapping )
* การเกิดเชื้อรา ( Midew )
* สนิมแดงบริเวณหัวตะปูเหล็ก ( Nailhead Rusting )
* สีสูญเสียการยึดเกาะ ( Paint Incompatibility )
* สีหลุดล่อนเป็นแผ่น ( Peeling )
* ความทนทานต่อสภาพด่างไม่ดีทำเฉดสีจางหรือฟิล์มสีเสื่อมสภาพบนพื้นปูนใหม่
( Poor Alkali Resistance )
* การยึดเกาะของสีทับโลหะกัลวาไนซ์ไม่ดี ( Poor Galvenized Metal Adhesion )
* ระดับความเงาของฟิล์มสีลดลงอย่างรวดเร็ว ( Poor Gloos Retention )
* สารลดแรงแรงตึงผิวละลายออกจากฟิล์มสีเกิดเป็นคราบ ( Surfactant Leaching )
* รอยเปื้อนจากสารแทนนิน (ยางไม้ คราบสิ่งสกปรก) (Tannin Staining )
* แผ่นรางไวนิลโก่งงอ ( Vinyl Siding Warp )
* การซึมขึ้นมาของคราบสกปรก ( Wax Bleed )
* ฟิล์มสีย่น (Wrinkling )
→ สารพันปัญหาอาจเกิดขึ้นภายหลังการทาสีภายใน
* การพองของฟิล์มสี ( Blistering )
* การติดกันของฟิล์มสีเนื่องจากการซ้อนทับกัน ( Blocking )
* ฟิล์มสีขึ้นรอยมันเงา ( Burnishing )
* สีโป้วเกิดรอยแตกร้าว (Caulk Failures )
* ฟิล์มสีแตก หรือล่อนเป็นแผ่น (Cracking / Flaking)
* การเกิดป็นหลุมบนผิวฟิล์มเนื่องจากแตกของฟองอากาศ (Foaming / Cratering)
* รอยเชื่อมต่อของฟิล์มสีขณะเปียก และแห้งไม่ดีทำให้เห็นความแตกต่างของโทนสีหรือ ความเงาที่ต่างกัน (Lapping)
* การเกิดเชื้อรา (Mildew)
* รอยแตกบนผิวฟิล์มสี (Mud Cracking)
* Picture Framing
* การไหลตัวของสีไม่ดี (Poor Flow / Leveling)
* การปิดบังพื้นผิวต่ำ (Poor Hiding)
* ความทนทานต่อการเกิดรอยฝังแน่นต่ำ (Poor Print Resistance)
* ความทนทานต่อการขัดถูต่ำ (Poor Scrub Resistance)
* ความมันเงาของสีไม่เนียนสม่ำเสมอ (Poor Sheen Uniformity)
* ความต้านทานต่อการเกาะของคราบสกปรกต่ำ (Poor Stain Resistance)
* รอยลูกกลิ้ง (Roller Marks "Stipple")
* รอยกระเด็นของสีในระหว่างการกลิ้งด้วยลูกกลิ้ง (Rooler Spattering)
* สีไหลย้อย (Sagging)
* สารลดแรงตึงผิวละลายออกจากฟิล์มสีเกิดเป็นคราบ (Surfactant Leaching)
* ฟิล์มสีย่น (Wrinkling)
* ฟิล์มสีเหลืองตัว (Yellowing)
→ ทำไมถึงต้องทาสีรองพื้นก่อนทาสีจริง
เพื่อช่วยปกปิดพื้นผิวให้เรียบสนิท ทำให้ทาสีจริงได้ง่ายรวดเร็วสวยงาม ทนทาน และยังเป็นการช่วยป้องกันการเกิดปฏิกริยาเคมีระหว่างพื้นผิวสีกับสีทับหน้า
นอกจากนี้การทาสีรองพื้นบนพื้นผิวปูนก่อนทาสีจริง จะช่วยป้องกันความเป็นด่างของผนังปูนคอนกรีต และในกรณีพื้นผิวเคยผ่านการทาสีมาแล้ว ต้องใช้สีรองพื้นปูนเก่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกาะได้ดีขึ้น
สำหรับการทาสีรองพื้นบนพื้นผิวไม้ก่อนทาทับด้วยสีจริง จะช่วยป้องกันยางไม้ไม่ให้ซึมออกมา
สำหรับการทา/พ่นสีรองพื้นบนพื้นผิวเหล็กก่อนทา/พ่นสีจริง จะช่วยป้องกันการเกิดสนิม และช่วยในการยึดเกาะของสีทับหน้า
→ สภาพแวดล้อมมีผลต่อการเคลือบสีหรือไม่
นอกจากการเตรียมพื้นผิวที่จะเคลือบปราศจากฝุ่นละออง ไขมัน หรือสิ่งแปลกปลอมที่เกาะอยู่บนพื้นผิวแล้ว หากเป็นการเคลือบสีในที่กลางแจ้ง ควรหาวิธีป้องกันสภาพแวดล้อมอันเกิดจากธรรมชาติ เช่น ลมแรง มีฝุ่นมาก ฝนตก หรือบรรยากาศที่เป็นมลภาวะด้วย เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อฟิล์มสีที่เคลือบทั้งสิ้น
→ ผดสี เกิดจากอะไร และวิธีแก้ไข
ผดสี หมายถึง สีที่โป่งขึ้นมาคล้ายฟองอากาศ ดันผิวสีให้โป่งออกมา
สาเหตุเกิดจาก
1. ทำความสะอาดผิวไม่ดีพอ
2. อัตราส่วนการผสมสีเจือจางไม่ถูกสัดส่วน
3. ฟิล์มสีหนาเกินไป
4. เกิดจากความสกปรกอื่น ๆ เช่น (ลม ท่อลม เครื่องมือในห้องพ่น หรือผิวสีเดิม)
5. ผลกระทบจากผิวสีเดิม
การแก้ไข
ถ้าเกิดในบริเวณกว้างและรุนแรง ควรกำจัดผิวสีออกให้หมดจนถึงชั้นสีพื้น หรือผิวโลหะแล้วทำการซ่อมใหม่ ในกรณีไม่รุนแรงก็เพียงแต่ขัดด้วยกระดาษทราย พ่นซ่อมด้วยสีพื้น แล้วพ่นทับด้วยสีจริงใหม่
→ ผิวสีแตกเกิดจากอะไร และวิธีแก้ไข
ผิวสีแตก หมายถึง ข้อบกพร่องของฟิล์มของสารเคลือบผิวที่เกิดการแยกตัวเนื่องจากสารเคลือบผิวไม่สามารถขยายตัวและหดตัวได้ในอัตราที่เท่ากันระหว่างการแห้งตัวของฟิล์ม
สาเหตุเกิดจาก
1. การผสมสีไม่เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน
2. ใช้สีมีคุณภาพต่ำ
3. ผลกระทบจากผิวสีเก่า
4. การเคลือบสารเคลือบผิวฟิล์มสีหนาเกินไป
การแก้ไข
ให้ขัดด้วยกระดาษทรายบริเวณดังกล่าวออกให้เรียบ แล้วพ่นสีจริงทับ
→ รอยแยกหรือรอยแตกตามขอบ เกิดจากอะไร และวิธีแก้ไข
รอยแยกหรือรอยแตกตามขอบ มีลักษณะคล้ายรอยแยกบนกำแพงหรือธารน้ำเล็ก ๆ ซึ่งมักเกิดในระหว่างพ่นสี หรือหลังจากพ่นสีจริงทับสีรองพื้นเรียบร้อยแล้ว บางกรณีคล้ายการหดตัวหรือแยกตัวของสีรองพื้นเก่าตามขอบรอยแผลซ่อม
รอยแยกหรือรอยแตกตามขอบมีลักษณะต่างกันดังนี้
1. รอยแตกเส้นผม หมายถึง รอยแตกเป็นเส้นเล็ก ๆ ที่ไม่ทะลุผิวเคลือบชั้นบนเกิดขึ้นเป็นแห่ง ๆ
2. รอยราน หมายถึง รอยแตกเป็นเส้นเล็ก ๆ ไม่ทะลุผิวเคลือบชั้นบนและเกิดกระจายไปทั่วพื้นผิว มีลักษณะคล้ายลวดลายสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ
3. รอยร้าว หมายถึง รอยแตกที่คล้ายรอยรายแต่ลึกและกว้างกว่า
4. รอยแตกผิวหนังจรเข้ หมายถึง รอยร้าวที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้ฟิล์มมีลวดลายคล้ายหนังจรเข้
5. รอยแตก หมายถึ รอยแยกที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้ฟิล์มเกิดการแตกร้าว มีการทะลุผิวเคลือบอย่างน้อย 1 ชั้น
สาเหตุเกิดจาก
1. เนื่องจากฟิล์มเปราะ
2. พ่นสีที่ฉ่ำและหนาเกินไป
3. คนสีไม่ทั่ว
4. การผสมทินเนอร์ผิดส่วน
5. การเตรียมพื้นผิวไม่สะอาดพอ
6. การปรับปืนและเทคนิคไม่ถูกต้อง
7. สาเหตุจากสีเดิม
8. อุณหภูมิไม่เหมาะสมขณะพ่น
9. การแห้งตัวแบบผิดวิธี เช่น ใช้ลมเป่า
10. ไม่มีการทิ้งช่วงการเคลือบผิวในแต่ละเที่ยว
การแก้ไข
1. ลอกสีออกแล้วพ่นใหม่
2. เลือกใช้สารเคลือบผิวที่มีความยืดหยุ่นกว่า
3. เตรียมพื้นผิวและวิธีการ เทคนิคการเคลือบผิวให้ถูกต้อง
→ ผิวสีด้าน เกิดจากอะไร และวิธีการแก้ไข
ผิวสีด้าน หมายถึง ลักษณะทึบแสงของฟิล์มของแลคเกอร์ที่กำลังแห้ง ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของส่วนที่เป็นของแข็งของผลิตภัณฑ์
สาเหตุความด้านเกิดได้ 2 แบบ คือ เกิดจาก
1. ความด้านเนื่องจากความชื้นสูง
2. ความด้านเนื่องจากกัม เลือกใช้ตัวทำละลายไม่ถูกต้องเกิดการระเหยเร็วเกินไป
การแก้ไข
1. เลือกใช้ตัวทำละลายที่เหมาะสม
2. เลือกใช้ตัวทำละลาย หรือทินเนอร์ที่แห้งช้าลง
→ สีเป็นฝุ่นเกิดจากอะไร และวิธีการแก้ไข
การเป็นฝุ่น หมายถึง การที่ผิวหน้าของฟิล์มสีเปลี่ยนลักษณะเป็นฝุ่นเนื่องจากการเสื่อมคุณภาพหรือการสลายตัวของสารยึดที่เข้าทำปฏิกริยากับอากาศ ลักษณะจะเป็นเม็ดสีแยกตัวออกมาเป็นผงบนผิวของฟิล์มสี ทำให้ฟิล์มสีดูซีดและเก่า
ในกรณีที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยอาจถือว่าเป็นผลดีประการหนึ่ง คือ เป็นการป้องกันสิ่งสกปรกต่าง ๆ ไม่ให้เกาะบนผิวของฟิล์มสีได้ และเมื่อฝนตกจะช่วยชะล้างเอาฝุ่นที่เกิดขึ้นออกไป
สาเหตุเกิดจาก
1. เนื่องจากถูกแสงแดด หรือสารเคมีเป็นเวลานาน
2. การผสมสีไม่เข้าเป็นเนื้อเดียวกันพอ
3. อัตราส่วนการผสมสีไม่ถูกต้อง
4. ใช้สารเคมีจำนวนกาวไม่ถูกวิธี หรือไม่ถูกต้อง
5. ใช้สีคุณภาพต่ำ
การแก้ไข
1. โดยการเช็ดออก
2. ขัดหรือกำจัดพื้นของเม็ดสีออกให้หมด
→ ฝ้าบนผิวของแลคเกอร์เกิดขึ้นได้อย่างไร
ฝ้าบนผิวของแลคเกอร์ มีลักษณะขาวขุ่นคล้ายนม หรือบางครั้งดูด้าน ซึ่งปรากฎกับฟิล์มสี แลคเกอร์แห้งเร็ว ในกรณีกำลังพ่นหรือหลังจากพ่นสีเรียบร้อยแล้ว
สาเหตุเกิดจาก
1. ใช้ทินเนอร์ซึ่งระเหยตัวเร็วเกินไป
2. ความชื้นในอากาศ และความดันในบรรยากาศ
3. อัตราส่วนการเจือจางสีไม่ถูกต้อง
4. การใช้ทินเนอร์ผิดประเภท
5. ปรับปืนพ่นสีและแรงดันลมไม่เหมาะสม (สูงหรือต่ำเกินไป)
→ สีเพี้ยนหรือสีด่างเกิดจากอะไร และวิธีการแก้ไข
สีเพี้ยนหรือสีด่าง หมายถึง สีที่พ่นซ่อมเพี้ยนไปจากสีเดิม หรือไม่เหมือนเดิมที่ผิวฟิล์มสียังปกติ
สาเหตุเกิดจาก
1. สารเคมีในน้ำยาทำความสะอาดแทรกซึมเข้าไปในผิวสี
2. สิ่งแปลกปลอมจำพวกยาขัด หรือน้ำมันที่ตกค้างบนผิวสีเก่า
3. ขั้นตอนการทำความสะอาดก่อนพ่นสีจริงไม่ถูกต้อง หรือไม่สะอาดเพียงพอ
การแก้ไข
1. ในกรณีที่ไม่รุนแรงให้ ขัดด้วยยาขัดแดง ขัดละเอียด แล้วตามด้วยยาขัดเงา
2. ในกรณีที่รุนแรง ให้ขัดให้ถึงชั้นสีพื้นแล้วซ่อมใหม่ โดยทำความสะอาดให้ดีพอ แล้วทิ้งให้แห้งสนิท
→ รอยกระดาษทรายเดินขึ้นได้อย่างไร และวิธีการแก้ไข
รอยกระดาษทรายจะปรากฎให้เห็นชัดในกรณีที่ซ่อมสีเป็นงานชิ้นใหญ่ ๆ ส่วนมากจะเกิดกับสีที่มีเฉดเข้ม
สาเหตุเกิดจาก
1. ทำความสะอาดพื้นผิวไม่ถูกต้อง (ใช้กระดาษทรายผิดเบอร์)
2. ใช้ทินเนอร์ซึ่งมีการระเหยตัวช้า
3. ผลสืบเนื่องจากผิวสีเก่า
การแก้ไข
เลือกใช้กระดาษทรายให้ถูกต้องเหมาะสมกับชิ้นงาน และขัดให้เรียบก่อนพ่นซ่อมทับด้วยสีจริง
→ ลักษณะผิวส้ม เกิดจากอะไร และวิธีแก้ไข
ลักษณะผิวส้ม เป็นข้อบกพร่องของฟิล์มที่พ่นแล้วไม่เรียบคล้ายผิวส้ม
สาเหตุเกิดจาก
1. สารเคลือบผิวมีความหนืดสูงเกินไป
2. ใช้อัตราส่วนของตัวทำละลายไม่เหมาะสม
3. การปรับปืนพ่นและปรับความดันของลมที่พ่นไม่ถูกต้อง
4. ส่วนประกอบในเนื้อสีไม่เข้ากัน
5. ขณะพ่น หัวพ่นอยู่ห่างจากผิววัสดุมากเกินไป ทำให้เกิดการสูญเสียตัวทำลายก่อนที่สารเคลือบผิวจะไปเกาะที่ผิววัสดุ ทำให้ฟิล์มที่ได้ไม่เรียบ
6. อุณหภูมิในห้องพ่นสีไม่เหมาะสม
7. การทิ้งช่วงระยะเวลาในการพ่นสีในแต่ละเที่ยวน้อยเกินไป
การแก้ไข
1. ให้ขัดด้วยยาขัดแดง ยาขัดขาว ในกรณีที่รุนแรงให้ขัดผิวด้วยกระดาษทรายให้เรียบก่อนพ่นซ่อมทับหน้า
2. ปรับแรงดันลมให้พอดี ไม่ต่ำหรือสูงเกินไป
→ ตาปลา (หลุม) บนฟิล์มสี เกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีแก้ไข
ตาปลา (หลุม) บนฟิล์มสี มักเกิดขึ้นหลังจากพ่นสีใหม่ ๆ ขณะที่สียังเปียกอยู่
สาเหตุเกิดจาก
1. พื้นผิวงานปนเปื้อนด้วยสารจำพวกซิลิโคน
2. ความสกปรกของอากาศ ลม เครื่องมือ หรือผิวสีเดิม
3. การทำความสะอาดพื้นผิวไม่ถูกต้อง
4. ผลกระทบสืบเนื่องจากผิวสีเก่า
การแก้ไข
1. ให้พ่นสีทับซ้ำ
2. ในกรณีรุนแรงควรมีการเช็ดด้วยน้ำยา แล้วลูบด้วยกระดาษทรายก่อนพ่นซ่อมใหม่
→ สีเป็นรอยตามด / รูเข็ม เกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีแก้ไข
สีเป็นรอยตามดและการเป็นรูเข็ม หมายถึง การเกิดเป็นรูเข็มเล็ก ๆ บนผิวฟิล์มของสารเคลือบผิว อาจจะกระจายไปทั่วหรือเกาะกลุ่มอยู่รวม ๆ กัน ในกรณีที่เคลือบหนามาก ๆ ฟองอากาศที่เกิดขึ้นจะมีขนาดใหญ่ และเมื่อฟองอากาศนี้แตกระหว่างแห้งตัว จะทำให้เกิดเป็นแอ่งเล็ก ๆ รูปถ้วยในฟิล์ม
สาเหตุเกิดจาก
1. ระหว่างการเคลือบสีเกิดฟองอากาศเล็ก ๆ หรือขนาดใหญ่
2. การพ่นฉ่ำโดยไม่ทิ้งช่วงในแต่ละเที่ยวให้เพียงพอ
3. ใช้ตัวซักแห้งหรือทินเนอร์ไม่ถูกต้อง (แห้งเร็วเกินไป)
4. ทำความสะอาดพื้นผิวไม่ถูกต้อง (ผิวไม่แห้งสนิท ความชื้นตกค้างบนผิว)
5. การปรับปืนพ่นและเทคนิคไม่ถูกต้อง
6. สิ่งสกปรกจากความชื้น หรือน้ำมันที่ติดมากับสายลม
7. ผลกระทบสืบเนื่องจากพื้นผิวเก่า
8. อุณหภูมิในห้องพ่นสูงเกินไป
9. การแห้งตัวไม่เหมาะสม
การแก้ไข
ทำได้โดยขัดกระดาษทรายให้เรียบแล้วค่อยพ่นซ่อมสีใหม่ทับ
→ รอยย่นของสีเกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีแก้ไข
รอยย่นในฟิล์มสีเกิดจากฟิล์มแห้งไม่สม่ำเสมอ ส่วนมากเกิดกับผิวสีซึ่งเกิดปฏิกริยาขณะกำลังพ่นสีจริงทับหน้าอยู่ หรืออาจเกิดหลังจากฟิล์มสีแห้งแล้ว โดยเกิดกับผิวชั้นถัดมา
สาเหตุเกิดจาก
1. ผิวเคลือบหนาเกินไป
2. ฟิล์มสีแห้งตัวไม่สม่ำเสมอ
3. สารเคลือบผิวมีสารเร่งแห้งมากเกินไป
4. พื้นผิวส่วนล่างแห้งไม่เพียงพอแล้วเร่งให้ผิวสีส่วนบนแห้งตัวก่อนโดยการอบหรือเป่าด้วยลม
การแก้ไข
ทำได้โดยลอกสีที่ย่นออกแล้วพ่นสีซ่อมใหม่
→ สีไหลย้อยเกิดจากอะไร และวิธีแก้ไข
สีไหลย้อย หมายถึง การที่ฟิล์มของสารเคลือบผิวไหลลงมาระหว่างทำการเคลือบแล้วเกิดการแข็งตัว เป็นผลทำให้ผิวเคลือบไม่สม่ำเสมอ โดยส่วนมากการไหลย้อยมีลักษณะเหมือนม่าน เกิดขึ้นเฉพาะพื้นผิวในแนวดิ่ง
สาเหตุเกิดจาก
1. การพ่นสีหนา หรือฉ่ำเกินไป
2. อุณหภูมิในห้องพ่นต่ำเกินไป
3. ตัวทำละลายไม่เหมาะสม (แห้งช้าเกินไป)
4. การทิ้งช่วงระยะเวลาระหว่างเที่ยวในการพ่นไม่เหมาะสม
5. การปรับปืนพ่นและเทคนิคไม่ถูกต้อง
6. อัตราส่วนการผสมสีไม่ถูกต้อง
การแก้ไข
รอผิวสีแห้งแล้วขัดออก พ่นซ่อมใหม่
→ การล่อนเป็นเกล็ด / แผ่น เกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีแก้ไข
การล่อนเป็นเกล็ดหรือเป็นแผ่น หมายถึง การที่ฟิล์มของสารเคลือบผิวหลุดล่อนออกมาเป็นแผ่นเล็ก หรือใหญ่ ซึ่งมีลักษณะรูปร่างแตกต่างกัน
สาเหตุเกิดจาก
1. ฟิล์มของสารเคลือบผิวไม่มีแรงยึดกับผิวของวัสดุ
2. การเตรียมพื้นผิวไม่ดีพอ
3. พื้นผิววัสดุยังมีความชื้นหลงเหลืออยู่ ทำให้แรงดันจากน้ำใต้ฟิล์มจะดันฟิล์มให้หลุดออกมา
การแก้ไข
1. ลอกผิวเก่าออกให้หมดทำการซ่อมใหม่
2. เตรียมพื้นผิวให้ดีพอโดยการใช้กระดาษทราย
3. ทำความสะอาดพื้นผิววัสดุให้ปราศจากคราบน้ำมันและความชื้น
→ การขึ้นเหลืองของสีโป้วรถยนต์เกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีแก้ไข
การขึ้นเหลือง จะมีลักษณะเป็นการที่สีเพี้ยน ไม่เหมือนสีจริง โดยจะมีสีเหลือบหรือสีเหลืองบนฟิล์มของสี ส่วนมากจะเกิดกับสีขาว หรือสีบรอนซ์
สาเหตุเกิดจาก
1. ผลสืบเนื่องจากสีเก่า ส่วนมากจะเป็นสีแดง
2. ความสกปรกที่ติดมากับอากาศ สายลม เครื่องมือ หรือผิวสีเดิม
3. ใช้น้ำยาเร่ง (Hardener) มากเกินไป
4. ทิ้งฟิล์มไม่แห้งสนิทก่อนพ่นทับ
การแก้ไข
ทิ้งให้แห้งสนิทก่อนพ่นซ่อมทับสีจริงใหม่
→ สีโป้วยุบตัว หรือสีโป้วแยกตัวออกจากสีเกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีแก้ไข
การที่สีโป้วยุบตัว หรือสีโป้วแยกตัวออกจากสี จะมีลักษณะที่สีจริงแยกตัวหลุดจากผิวโลหะ
สาเหตุเกิดจาก
1. ผิวของสีโป้วแห้งเร็วเกินไป
2. สีโป้วแห้งไม่สนิท
3. การทำความสะอาดผิวโลหะไม่ถูกต้อง หรือไม่ดีพอ
4. การเตรียมพื้นผิวไม่ถูกต้องหรือไม่ดีพอ
การแก้ไข
1. เตรียมพื้นผิวให้ดีพอโดยการขัดด้วยกระดาษทราย เพื่อช่วยให้สียึดเกาะได้ดี
2. ต้องแน่ใจว่าผิววัสดุสะอาด ปราศจากคราบน้ำมัน และไข โดยการใช้น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาทำความสะอาดสนิม และเคลือบกันสนิมบริเวณเหล็กเปล่า
3. ควรโป้วสีโป้วบาง ๆ ไม่หนาเกินไป
4. ควรทิ้งให้สีโป้วแห้งสนิทก่อนพ่นทับสีจริง